เปิดประวัติ ‘ต๋อง ศิษย์ฉ่อย’ ตำนานนักสอยคิวผู้ตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์
จากกรณีที่ “ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” วัฒนา ภู่โอบอ้อม ยอดนักสนุกเกอร์ไทย ที่เคยขึ้นมือ 3 ของโลก และเพิ่งคว้าเหรียญทองสนุกเกอร์ 6 แดง ชายคู่ ในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่ประเทศกัมพูชา โดนแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เล่นงาน สูญเงินไปถึง 3.2 ล้านบาท เหลือเงินสดติดบัญชีแค่ 8 พันกว่าบาทนั้น
กีฬาเดลินิวส์ ขอนำคุณผู้อ่านทุกท่าน ไปทบทวนประวัติและผลงานที่ผ่านมาของ “ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” รวมถึงทำความรู้จักกับตำนานนักสอยคิวไทยและทวีปเอเชียรายนี้ สำหรับแฟน ๆ ที่เกิดไม่ทันยุคที่เจ้าตัวเฟื่องฟูสุดขีดในวงการสนุกเกอร์โลก เมื่อร่วม ๆ 30 ปีก่อน
“ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” มีชื่อจริงว่า วัฒนา ภู่โอบอ้อม เป็นบุตรชายของ “ฉ่อย ซูซ่าส์” ยอดเซียนชื่อดัง กับนางคุณแม่พลอยรุ้ง มัชฌันติกะ ลืมตาดูโลกเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2513 ปัจจุบันอายุ 53 ปี จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนเทพสัมฤทธิ์วิทยา และมัธยมต้นจากโรงเรียนศรีวิกรม์
ในวัยเด็ก “ต๋อง” ได้โอกาสฝึกฝนฝีมือการเล่นสนุกเกอร์ เนื่องจากที่บ้านทำกิจการโต๊ะสนุกเกอร์อยู่แถวคลองเตย โดยฝีไม้ลายมือโดดเด่นตั้งแต่ยังเด็ก ถึงขั้นที่คุณพ่อ “ฉ่อย ซูซ่าส์” พาเดินสายล่าเงินรางวัลไปทั่วทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ก่อนจะเริ่มแข่งขันสนุกเกอร์ในระดับเยาวชน ได้รองชนะเลิศการแข่งขันประเภทดาวรุ่งของนิตยสารคิวทอง เมื่อ พ.ศ. 2527 ขณะอายุเพียง 14 ปี
หลังจากนั้น “ต๋อง” เริ่มเข้าสู่การแข่งขันอย่างจริง ๆ จัง ๆ ภายใต้การดูแลของ “คิวทอง” ศักดา รัตนสุบรรณ ก่อนจะก้าวไปคว้าแชมป์สนุกเกอร์สมัครเล่นชิงแชมป์โลก เมื่อปี พ.ศ. 2531 หรือปี ค.ศคำพูดจาก สล็อต. 1988 ด้วยการเอาชนะ แบร์รี พินเชส จากอังกฤษ 11-8 เฟรม ในรอบชิงชนะเลิศ ส่งผลให้เจ้าตัวได้สิทธิไปแข่งขันในระดับอาชีพในปีถัดมา
แม้ต้องปรับตัวกับการไปใช้ชีวิตที่ประเทศอังกฤษ ในวัยหนุ่มกระทงอายุยังไม่เต็ม 20 ปีดี แต่ด้วยสไตล์การแทงที่รวดเร็ว แม่นยำ ถูกใจแฟนสนุกเกอร์ ทำให้ “ต๋อง” หรือที่ใช้ชื่อในการแข่งขันว่า “เจมส์ วัฒนา” กลายเป็นขวัญใจอย่างรวดเร็ว จนได้รับฉายา “Thai Phoon” ล้อกับคำว่า “ไต้ฝุ่น” ขณะที่หลายสื่อเรียกเขาว่า “ไทย ทอร์นาโด”
ส่วนเรื่องของผลงาน “ต๋อง” ก้าวขึ้นสู่การเป็นนักสนุกเกอร์ระดับแนวหน้าของโลกอย่างรวดเร็ว ก่อนจะคว้าแชมป์รายการสะสมคะแนนโลกได้เป็นครั้งแรก ในรายการ สตรัคคัน โปรเฟนชันแนล ในปี 1992 ถึงปี 1994 “เจมส์ วัฒนา” ขยับขึ้นไปรั้งอันดับ 3 ของโลก รองจาก สตีเฟน เฮนดรี และ สตีฟ เดวิส ซึ่งเป็นอันดับโลกสูงสุดที่เจ้าตัวทำได้ สร้างกระแส “ต๋อง ฟีเวอร์” และกลายเป็นการปลุกวงการสนุกเกอร์เมืองไทยให้บูมสุดขีด
หลังจากนั้น “ต๋อง” คว้าแชมป์รายการสะสมคะแนนโลกได้อีก 2 รายการ ในศึกไทยแลนด์ โอเพ่น ปี 1994 และ 1995 รวมแล้วเจ้าตัวคว้าแชมป์รายการสะสมคะแนนโลก ได้ทั้งหมด 3 รายการ ส่วนผลงานในศึกสนุกเกอร์ชิงแชมป์โลกนั้น “ต๋อง” ผ่านเข้าไปเล่นในครูซิเบิล เธียเตอร์ ได้ทั้งหมด 13 ครั้ง ผลงานดีสุด คือเข้ารอบรองชนะเลิศ 2 ครั้ง ในปี 1993 ซึ่งแพ้ จิมมี ไวท์ 9-16 เฟรม และปี 1997 ที่แพ้ สตีเฟน เฮนดรี 13-17 เฟรม
หลังจากนั้น ผลงานของ “ต๋อง” เริ่มเข้าสู่ช่วงขาลง จนกระทั่งอันดับโลกหลุดจากท็อป 16 เป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ในปี 1999 ก่อนจะหลุดจากท็อป 64 ของโลกในฤดูกาล 2007-08 ซึ่งหมายความว่า เจ้าตัวเสียสิทธิการลงเล่นในระดับมืออาชีพ แม้หลังจากนั้นจะมีบางฤดูกาลที่ “ต๋อง” ได้สิทธิกลับไปแข่งขัน ผ่านทางการได้แชมป์รายการชิงแชมป์เอเชีย เมื่อปี 2009 รวมถึงการได้สิทธิไวลด์การ์ดจากสนุกเกอร์โลก แต่ด้วยปัจจัยหลากหลาย รวมถึงเรื่องของเงินทุน ทำให้เจ้าตัวไม่ได้เดินทางกลับไปเล่นอาชีพที่อังกฤษอย่างจริง ๆ จัง ๆ
ส่วนผลงานในการเป็นตัวแทนทีมชาติไทยนั้น “ต๋อง” คว้า 2 เหรียญทอง จากการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ โดยได้ 1 เหรียญทองประเภทเดี่ยว 15 แดง ในซีเกมส์ 2021 ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม และเพิ่งได้เหรียญทองในประเภทคู่ 6 แดง ในซีเกมครั้งล่าสุดในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา นอกจากนี้ยังเคยได้เหรียญเงินเอเชี่ยนเกมส์ 1998 ที่กรุงเทพฯ ในประเภททีม และเหรียญทองแดงในประเภทเดียวกัน จากเอเชี่ยนเกมส์ 2010 ที่นครกว่างโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงเคยได้ 1 เหรียญเงินจากประเภทเดี่ยว 15 แดง ในศึกเอเชี่ยนอินดอร์เกมส์ 2007 ที่มาเก๊า
ส่วนชีวิตนอกโต๊ะสุกเกอร์นั้น “ต๋อง” เคยเล่าว่า เขาเคยนำเงินไปลงทุนทำธุรกิจ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ สูญเงินไปหลายล้านบาท รวมถึงมีบางช่วงที่ชีวิตมีปัญหารุมเร้า ถึงขั้นเคยคิดฆ่าตัวตาย แต่หลังจากได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ชีวิตก็กลับเข้ามาอยู่ในร่องในรอยอีกครั้ง โดยในปัจจุบัน “ต๋อง” ยังคงลงแข่งขันในรายการระดับ ไทยแลนด์ แรงกิ้ง และมีธุรกิจส่วนตัว ก่อนที่ล่าสุด จะมีข่าวโดนแก๊งคอลเซ็นเตอร์เล่นงานดังกล่าว
ขอบคุณภาพบางส่วนจาก เฟซบุ๊กเพจ Tong Snooker Club